จับตัวผู้ตายไปกักขังและทรมาน มีความผิดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4904/2548

ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามถูกกักขังและถูกทำร้ายร่างกายในลักษณะการทรมานอยู่ในห้องพักที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยไม่มีหนทางหลบเลี่ยงให้พ้นจากการถูกทรมานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใดได้เห็นได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายต้องตกอยู่ในสภาพถูกบีบคั้นทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน การที่ผู้ตายตัดสินใจกระโดดจากห้องพักเพื่อฆ่าตัวตายนั้นอาจเป็นเพราะผู้ตายมีสภาพจิตใจที่เปราะบางกว่าผู้เสียหายอื่น และไม่อาจทนทุกข์ทรมานได้เท่ากับผู้เสียหายอื่นจึงได้ตัดสินใจกระทำเช่นนั้นเพื่อให้พ้นจากการต้องทนทุกข์ทรมาน พฤติการณ์ฟังได้ว่าการตายของผู้ตายมีสาเหตุโดยตรงมาจากการถูกทรมานโดยทารุณโหดร้าย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำพิพากษาฎีกาย่อยาว


โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297, 298, 309, 310 และ 313 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12 (1), 58, 62 และ 81

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 297, 298, 309 วรรคหนึ่ง, 310 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 313 (2) (3) วรรคสองและวรรคสาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12 (1), 58, 62 วรรคหนึ่ง, 81 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายแก่กายฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสโดยกระทำทรมานหรือทารุณโหดร้ายและฐานเอาตัวบุคคลไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่จนเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตาย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเอาตัวบุคคลไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่จนเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวถึงแก่ความตายตามมาตรา 313 วรรคสาม อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยลงโทษประหารชีวิตฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในความผิดฐานเข้ามาในราชอาณาจักรและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมเป็นจำคุกคนละ 4 เดือน และคำรับสารภาพชั้นจับกุมกับชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่จนเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวถึงแก่ความตาย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต และเมื่อศาลลงโทษจำเลยทั้งสองถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่ต้องนำโทษจำคุก 4 เดือน ในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองมารวมเข้าอีก คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตสถานเดียว (ที่ถูก เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3))

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนต่างด้าวสัญชาติจีน ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และระหว่างปลายเดือนมิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2541 นางเจ้า ไป่ หลิง กับจำเลยที่ 1 และพวกได้ร่วมกันนำตัวผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายมากักขังไว้ที่ห้องพักเลขที่ 40/46 ชั้น 13 อาคารเลอพรีเมียร์ 2 ซอยสุขุมวิท 59 แขวงคลองตัน เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร และร่วมกันขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งสามกับผู้ตายให้โทรศัพท์แจ้งบิดามารดาหรือญาติพี่น้องในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งเงินมาให้แก่นางเจ้า ไป่ หลิง กับพวก เมื่อไม่ได้รับเงิน นางเจ้า ไป่ หลิง และจำเลยที่ 1 กับพวกก็ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายติดต่อกันตลอดมาจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและเป็นเหตุให้ผู้ตายทนถูกกักขังและทนถูกทำร้ายทรมานต่อไปไม่ไหวจึงกระโดดจากห้องพักดังกล่าวตกลงที่พื้นดินถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้และยึดได้ขาเก้าอี้ไม้ 1 อัน ขาเก้าอี้ไม้พันด้วยผ้า 1 อัน กุญแจมือ 1 คู่ จากห้องพักที่เกิดเหตุเป็นของกลาง...

ปัญญาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและรับอันตรายสาหัสโดยกระทำทรมานหรือทารุณโหดร้ายและฐานเอาตัวบุคคลไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ จนเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 2 จะพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายทั้งสามกับผู้ตาย แต่จำเลยที่ 2 มิได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้ตายกระโดดจากห้องพักตกลงถึงพื้นจนถึงแก่ความตายเพราะผู้เสียหายคนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันแต่กลับมิได้คิดฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับผู้ตาย จึงยังไม่เป็นที่ยุติว่าผู้ตายกระโดดจากห้องพักเพื่อฆ่าตัวตายเนื่องจากสาเหตุการถูกทรมานแต่น่าจะเกิดจากสาเหตุอื่นมากกว่า จึงฟังไม่ได้ว่าการตายของผู้ตายเกิดจากการถูกทรมานจากจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามถูกกักขังและถูกทำร้ายร่างกายในลักษณะการทรมานอยู่ในห้องพักที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลานานติดต่อกันประมาณ 3 เดือน โดยไม่มีหนทางหลบเลี่ยงให้พ้นจากการถูกทรมานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใดได้ เห็นได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายต้องตกอยู่ในสภาพถูกบีบคั้นทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน การที่ผู้ตายตัดสินใจกระโดดจากห้องพักเพื่อฆ่าตัวตายนั้นอาจเป็นเพราะผู้ตายมีสภาพจิตใจที่เปราะบางกว่าผู้เสียหายอื่น และไม่อาจทนทุกข์ทรมานได้เท่ากับผู้เสียหายอื่นจึงได้ตัดสินใจกระทำเช่นนั้นเพื่อให้พ้นจากการต้องทนทุกข์ทรมาน พฤติการณ์ฟังได้ว่าการตายของผู้ตายมีสาเหตุโดยตรงมาจากการถูกทรมานโดยทารุณโหดร้ายนั่นเอง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายเต็มใจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเองเพื่อจุดประสงค์ที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา การมาอยู่ที่ห้องพักที่เกิดเหตุก็มิได้ถูกบังคับขู่เข็ญหรือถูกหลอกลวงจากบุคคลใดแต่เป็นการพักรอการเดินทางอยู่ในประเทศไทยเพื่อรอให้ได้รับเงินที่จะโอนมาเป็นค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกันไว้ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายอยู่รวมกันในหักพักที่เกิดเหตุจึงมิได้หมายถึงการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่หรือมุ่งประสงค์ที่จะต้องเสียค่าไถ่เป็นสำคัญ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 นั้น เห็นว่า แม้จะปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายสมัครใจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและอยู่รวมกันในห้องพักที่เกิดเหตุโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะเดินทางต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมิได้ถูกบังคับขู่เข็ญจากผู้ใดอันแสดงว่าเจตนาที่จะให้ได้มาซึ่งค่าไถ่มิได้มีมาตั้งแต่แรกก็ตาม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายติดต่อให้ญาติส่งเงินมาให้นางเจ้า ไป่ หลิง กับพวกแล้วไม่มีผู้ใดส่งเงินมาให้ตามที่ติดต่อไป นางเจ้า ไป่ หลิง และจำเลยทั้งสองกับพวกก็ได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายโดยใช้โซ่ล่ามและใส่กุญแจมือกักขังไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ และร่วมกันทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการต่าง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงเห็นได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อบีบบังคับให้ญาติพี่น้องของผู้เสียหายและผู้ตายส่งเงินมาให้ เจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ได้เกิดขึ้นหลังจากโทรศัพท์ติดต่อให้ญาติพี่น้องส่งเงินมาให้แล้วไม่ได้รับเงินนั่นเอง ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำการต่าง ๆ ดังกล่าวต่อผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า สมควรลดโทษจำเลยที่ 2 ให้เบาลงจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุไม่เกิน 20 ปี นับว่ายังหย่อนต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ตัวการสำคัญในคดีแต่เป็นเพียงผู้ถูกใช้ให้กระทำเพื่อหวังผลให้ได้ค่าไถ่ จึงสมควรลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ลงโทษฐานร่วมกันเอาตัวบุคคลไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่จนเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสาม ประกอบมาตรา 52 (1) ให้จำคุกตลอดชีวิต คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกกระทงละ 2 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 เดือน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่